ปฏิทิน

วันเสาร์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2553

ศิลปะสมัยใหม่(Modern Art)

ศิลปะสมัยใหม่(Modern Art)

โมเดิร์น อาร์ต
ศิลปะสมัยใหม่
Modern Art
คริสต์ทศวรรษ 1860-1970
...................คำว่า โมเดิร์น (Modern คือคำวิเศษณ์ ตรงกับคำว่า "สมัยใหม่" ในภาษาไทย) หมายถึง ความใหม่ ความร่วมยุคร่วมสมัย ศิลปะล้วนแล้วแต่ "ใหม่ (modern)" สำหรับผู้สร้างมัน
..................ถึงแม้ว่าจะเป็น ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance, เรอเนอซองส์) ในฟลอเรนซ์ หรือในคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในนิวยอร์ค หรือศิลปะที่เขียนขึ้นในวันนี้ ในรูปแบบของศิลปะคริสต์ศตวรรษที่ 15 ก็ยัง "ใหม่ (modern)" ในความหมายนี้ หรืออีกนัยหนึ่ง ก็คือ สิ่งที่ไม่เก่า สิ่งที่ตรงกันข้ามกับ "เก่า" หรือ "ประเพณี" ดังเช่น ความสมัยใหม่ในบริบทของสังคมไทย ภาพเขียนของ ขรัวอินโข่ง หรือของ สมเด็จฯกรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ จึงสมัยใหม่สำหรับสังคมไทยในสมัยนั้นๆ เรา(คนไทย) มักจะนึก "ความเป็นฝรั่ง" พร้อมๆกับคำว่าสมัยใหม่ แต่ในความหมายเชิงประวัติศาสตร์ คำว่า "โมเดิร์น" ในศิลปะตะวันตกหมายถึงยุคสมัยจำเพาะในทางประวัติศาสตร์ ระหว่างประมาณคริสต์ทศวรรษ 1860-1970 ในความหมายนี้สมัยใหม่ถูกใช้อธิบายรูปแบบและอุดมคติหรืออุดมการณ์ในการสร้างสรรค์ในยุคนั้นๆ
...............ลักษณะสำคัญของ "ศิลปะสมัยใหม่" (Modern Art) และ "ลัทธิสมัยใหม่" (Modernism, โมเดิร์นนิสม์) คือ ทัศนคติใหม่ๆที่มีต่ออดีตและอนาคต ซึ่งเป็นไปแบบสุดขั้ว โดยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ที่ถือกันว่าเป็นยุคปฏิวัติของยุโรป ศิลปินเริ่มที่จะให้การยอมรับการเขียนภาพ "เหตุการณ์ปัจจุบัน-ร่วมสมัย" ในยุคของตนว่า สามารถมีคุณค่าทางศิลปะได้เท่าเทียมกับภาพเขียนเรื่องราวในอดีตตั้งแต่ยุคโบราณ หรือยุคประวัติศาสตร์จากคัมภีร์ไบเบิล
การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขนานใหญ่ทั่วยุโรปใน ปี 1848 ประกอบกับการอ่อนแรงของศิลปะแบบทางการ หรือ ศิลปะตามหลักวิชา (academic art) ทำให้กระแสศิลปะลัทธิสมัยใหม่ยิ่งเติบโต จิตรกรแนว นีโอ-คลาสสิสม์ (Neo-Classicism) อย่าง ฌาค หลุยส์ ดาวิด (Jacques Louis David) เขียนภาพเหตุการณ์การปฏิวัติฝรั่งเศส จิตรกรแนว โรแมนติสิสม์ (Romanticism) อย่าง ฟรานซิสโก เดอ โกย่า (Francisco de Goya) เขียนภาพเหตุการณ์ตอนที่นโปเลียนจากฝรั่งเศสรุกรานสเปน เรื่องราวที่จิตรกรทั้งสองเขียนในภาพของพวกเขา ได้ช่วยแผ้วถางทางของศิลปะในช่วงกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ดังที่เห็นได้จากงานศิลปะที่ปฏิเสธการเขียนภาพเกี่ยวกับอดีต ของศิลปิน เรียลลิสม์ (Realism, สัจนิยม) อย่างเช่น กุสตาฟ กูร์เบต์ (Gustave Courbet) และ เอดัวร์ มาเนต์ (Edouard Manet)

............ในจุดเริ่มต้นของศิลปินสมัยใหม่ พวก อิมเพรสชันนิสต์ (Impressionist, Impressionism) และ โพสต์-อิมเพรสชันนิสต์ (Post-Impressionist, Post-Impressionism) จะทำการปฏิเสธทั้งการเขียนภาพเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ และยังไม่สนใจขนบของการสร้างภาพลวงตา (เขียนให้เหมือนจริงมาก) ซึ่งพัฒนามาตั้งแต่ ยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา "ความใหม่" คือสิ่งที่ศิลปินสมัยใหม่ให้ความสำคัญ ทัศนคติแบบนี้จะปรากฏให้เห็นในแนวคิดเกี่ยวกับ "อาวองท์-การ์ด" (avant-garde, หัวก้าวหน้า) คำนี้เป็นศัพท์ทางการทหาร หมายถึง ทหารแนวหน้า (advance guard) ศิลปินอาวองท์-การ์ด หรือศิลปินหัวก้าวหน้า ได้กลายเป็นพวกที่ล้ำยุคล้ำสมัยของสังคม (ก้าวเร็วแซงหน้าจนชาวบ้านตามไม่ทัน) ถึงแม้ว่าความก้าวหน้ามากๆแบบนี้จะได้รับการยอมรับโดยทั่วไป แต่การที่ศิลปินอิสระจนหลุดพ้นไปจากกรอบของยุคสมัย บางทีก็ถูกปฏิเสธจากนักประวัติศาสตร์ศิลป์อยู่เหมือนกัน

.................บทบาทของผู้อุปถัมภ์ศิลปะในอดีตอย่าง ศาสนจักร รัฐ และขุนนาง ที่ลดลงไปอย่างมาก ได้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ ลัทธิสมัยใหม่ พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพราะศิลปินสมัยใหม่จะมีอิสระเสรีที่จะคิดและทำศิลปะที่แตกต่างไปจากอดีต ซึ่งต้องทำตามความชอบของผู้ว่าจ้าง นอกจากนี้ การค้าขายศิลปะตามระบบทุนนิยม ก็ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ศิลปินทำการทดลองอะไรที่แปลกใหม่ คำว่า "ศิลปะเพื่อศิลปะ" ที่เริ่มแพร่หลายในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก็ยิ่งกระจายออกไปอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คำๆนี้สามารถใช้อธิบายศิลปะที่เกิดจากความคิดส่วนตัวของศิลปิน ที่มีความเป็นปัจเจกสูงเสียจนไม่ต้องการการอ้างอิงไปถึงประเด็นทางสังคมและศาสนา
การเติบโตของ ศิลปะสมัยใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการที่สังคมตะวันตกได้เปลี่ยนผ่านไปสู่ "ความเป็นอุตสาหกรรม", "ความเป็นเมืองใหญ่แบบมหานคร" และการเป็นสังคมแบบวัตถุนิยมอย่างเต็มที่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ศิลปินสมัยใหม่ได้ท้าทายรสนิยมของชนชั้นกลาง โดยหาเรื่องและประเด็นใหม่ๆ รูปแบบใหม่ๆ ที่ดูแปลกประหลาดไปจากระเบียบแบบแผนดั้งเดิม ศิลปะสมัยใหม่มักจะมีแนวเนื้อหาเกี่ยวกับ การเฉลิมฉลองเทคโนโลยี การค้นหาจิตวิญญาณ และ การกระตุ้นด้วยความป่าเถื่อน (จากความสนใจในศิลปะของคนป่า (Primitivism)) ศิลปินได้แสดงออกแนวเนื้อหาเหล่านั้นออกมาในรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย แนวเนื้อหาของการเฉลิมฉลองเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ได้ปรากฏออกมาในรูปของการชื่นชม "ความเร็ว" ดังที่เห็นได้จากศิลปะในลัทธิ ฟิวเจอร์ริสม์ (Futurism) การใช้แนวคิดในเชิงวิทยาศาสตร์ปรากฏให้เห็นในงานของพวก คอนสตรัคติวิสม์ (Constructivism ในสหภาพโซเวียต) การค้นหาจิตวิญญานจะมีอยู่ในงานของพวก ซิมโบลลิสม์ (Symbolism ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา) เดอ สตีล หรือ เดอะ สไตล์ (De Stijl/The Style ในเนเธอร์แลนด์) นาบิส (Nabis ในฝรั่งเศส ในคริสต์ศตวรรษ 1890) และ แดร์ บลาว ไรเตอร์ หรือ เดอะ บลู ไรเดอร์ (Der Blaue Reiter/The Blue Rider ในเมืองมิวนิค เยอรมนี) งานประเภทนี้ถือว่าเป็นปฏิกริยาโต้ตอบกับวัตถุนิยมในยุคสมัยใหม่
....................ความสนใจในความเถื่อนของศิลปะจากคนป่าและชาวเกาะ (อัฟริกันและชาวเกาะ หรือ โอเชียนนิค Oceanic) จะปรากฏชัดในงานของ โพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ คิวบิสม์ (Cubism) และ เยอรมัน เอ็กซ์เพรสชันนิสม์ (German Expressionism ในเยอรมนีช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ 20) ความสนใจในสิ่งเหล่านี้เป็นตัวสะท้อนให้เห็นผลของลัทธิ "จักรวรรดินิยม" (Imperialism) ที่นิยมล่าอาณานิคม และอ้างว่าตน (ตะวันตก) "ค้นพบ" วัฒนธรรมของดินแดนอันไกลโพ้นเหล่านั้น

ศิลปร่วมสมัยในประเทศไทย
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ประสิทธิภาพของอารยธรรมปัจจุบัน และอิทธิพลของศิลปตะวันตก
จากการมองย้อนหลังศิลปในประเทศไทย แสดงให้เราเห็นว่า แบบอย่างของศิลปตามประเพณีที่กระทำจำเจกันมานับเป็นร้อยๆ ปี จนถึงปลายศตวรรษที่แล้วนั้นได้ตกอยู่ในสภาวะที่จืดชืด และซ้ำซาก งานศิลปแบบนี้อาจยังคงมีค่าอยู่ได้ สำหรับผู้ที่ขาดความเชี่ยวชาญ และผู้ที่นิยมของต่างประเทศเท่านั้นเอง
ตามปกตินั้น ถ้าไม่มีสิ่งใดมาสกัดกั้นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามธรรมดาแล้ว งานศิลปะซึ่งกำลังเสื่อมคุณค่านั้น ก็เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นศิลปที่แสดงออก ซึ่งความรู้สึกทางประเพณี และฉะนั้นเอง ก็อาจกระทำกันไปอีกหลายสิบปีทีเดียว แต่ครั้นเมื่อมีเหตุการณ์สำคัญลางประการ มาเปลี่ยนสภาวะเดิมแห่งวัฒนธรรมขึ้น ส่วนหนึ่งของชนชั้นปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ได้แก่อนุชนรุ่นต่อไป ก็จะสำแดงปฏิกิริยาอย่างแข็งขัน
นี้เป็นสิ่งซึ่งได้เกิดขึ้นแก่เมืองไทย และประเทศต่างๆ ในตะวันออก ซึ่งรับวัฒนธรรมตะวันตก คือ ระบบเศรษฐกิจ และการเพิ่มพูนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ อารยธรรมแผนใหม่นั้นกระทบกระเทือนศิลปแบบประเพณียิ่งนัก
โดยทั่วไป เราอาจากล่าวได้ว่าเท่าที่เศรษฐกิจของรัฐเป็นอยู่ในสมัยโบราณ มิได้มีการจับจ่ายใช้เงินที่จำเป็น หรือฟุ่มเฟือยอย่างสมัยเรา รายได้ส่วนใหญ่ของรัฐ ได้ถูกนำไปใช้สร้างวัดวาอาราม เพราะเป็นการสร้างกุศลผลบุญอย่างสูงสุดของชาวพุทธ ที่จะพึงกระทำได้ในชั่วชีวิตของตน ฉะนั้นเอง สิ่งก่อสร้างทางศาสนาจึงอุบัติโดยไม่หยุดยั้ง ซึ่งอำนวยให้ศิลปินไทย ทำงานศิลปทุกสาขาได้อย่างดี (เห็นควรกล่าวได้ ณ ที่นี้ด้วยว่า ในสมัยโบราณ ประเทศไทยนั้น ไม่มีประจักษ์การแสดงออกทางศิลปอย่างอื่น นอกจากเพื่อความมุ่งหมายทางศาสนา)
ในตอนปลายพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว (พ.ศ. ๒๔๑๑ - ๒๔๕๓) ประเทศไทยได้นำเอาอารยธรรมตะวันตกเข้ามาพัฒนาประเทศหลายประการ คือ การสร้างทางรถไฟ ถนนหนทาง โรงพยาบาล โรงเรียน การประปา การไฟฟ้า ฯลฯ เพราะว่ารายได้ของประเทศได้นำไปใช้เกี่ยวสาธารณะประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ การสร้างวัดวาอารามจึงสดุดหยุดลง เป็นเหตุให้ศิลปตามประเพณีมิได้เป็นไปอย่างปกติเช่นสมัยก่อน
การนำอารยธรรมตะวันตกเข้ามาใช้ ย่อมหมายถึงการนำเอาคุณสมบัติพิเศษทางศิลปของตะวันตกเข้ามาด้วยหลายสถาน งานประติมากรรมและจิตรกรรมตามแบบจริงกึ่งพานิช ศิลปก็ได้สั่งเข้ามาในประเทศไทย รวมทั้งสิ่งอื่นๆ เพื่อความหรูหราในหมู่ชนชั้นสูง ก่อให้เกิดรสนิยมใหม่ในศิลปขึ้น ศิลปินและสถาปนิกชาวต่างประเทศได้ถูกสั่งเข้ามาทำงาน และนี่เองเป็นสิ่งกำหนดชะตากรรมของศิลป ตามแบบประเพณี ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วว่าเป็นศิลปในยุคเสื่อม
ระหว่างสามสิบปีที่ผ่านมาในศตวรรษนี้ ประเทศไทย ซึ้งถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ได้รับความกระทบกระเทือนจากตะวันตก ความกระทบกระเทือนที่เรียกว่า “ความเจริญเติบโต” อันเป็นผลร้ายแก่วัฒนธรรมของเราหลายกรณีด้วยกัน
ด้วยการศึกษาที่คนไทยหนุ่มๆ ทั้งในประเทศและในยุโรป (๑) ทำให้สภาวะจิตที่ซบเซาก้าวไปสู่ความรู้สึกนึกคิดอันสถิตสถาพร
ูู ดูด้านล่าง ภาพประกอบบทความ >>


สิ่งแวดล้อม
ปัจจุบัน กิจกรรมของศิลปร่วมสมัยในประเทศไทยนั้น จำกัดวงอยู่เพียงในกรุงเทพฯ ซึ่งในรอบ ๕๐ ปีที่ผ่านมา สภาพของกรุงเทพฯ ได้มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ลำคลองต่างๆ ได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นถนน (๒) อาคารคอนกรีตก็เข้ามาแทนอาคารไม้ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายก็เปลี่ยนมาเป็นแบบตะวันตก ที่อยู่อาศัยซึ่งในสมัยอดีตสร้างขึ้นท่ามกลางความอุดมสมบูรณ์ของ พฤกษชาติ ริมแม่น้ำลำคลอง ก็เปลี่ยนมาเป็นตึกแถวเรียงราวไปตามถนน ซึ่งทุกหนทุกแห่งนั้นต้นไม้ก็พยายามที่จะขึ้น เดิมเรือแจวเรือพาย ก็แจวก็พายกันอย่างธรรมดาไปตามแม่น้ำลำคลอง บัดนี้กลับเปลี่ยนสภาพไป มีแต่เสียงหนวกหูของรถยนต์จำนวนนับไม่ถ้วน รบกวนประสาทของผู้คนสัญจรไปมาเหลือเกิน ความรวดเร็วเป็นสิ่งเหนืออื่นใด เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ชีวิตของคนเราดำเนินไปอย่างเชื่องช้าคล้ายกับพืช จะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ชีพจรชีวิตของชาติในปัจจุบันนี้ ถูกนำไปทั้งในทางสร้างและทางทำลายอันเป็นสภาพกระทบกันอยู่ทุกขณะของชีวิตปัจจุบัน ย่อมเป็นจริงว่าไม่มีผู้ใดอาจขัดขวางอารยธรรมปัจจุบันได้ มันเป็นสิ่งก้าวหน้า เกินความต้องการ แต่ก็ไม่มีชาติใดที่จะหลีกพ้นไปจากชะตากรรมแห่งความเจริญของยุคปัจจุบันได้เลย


ประสิทธิภาพของอารยธรรมสมัยปัจจุบันประการแรก
คนไทยโบราณใช้ชีวิตอย่างง่ายๆ ตามธรรมชาติ มีน้ำใจบริสุทธิเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน โดยมีพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องค้ำจุนจิตใจ ความต้องการของคนเราก็พอสันฐานประมาณ สันติภาพแผ่สร้านอยู่ในดวงจิตของคนทุกคน ในสภาพการณ์เช่นนี้ ศิลปินสามารถวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังประกอบด้วยรูปคนจำนวนร้อยๆ ขนาดเล็กๆ หรือไม่ก็พระพุทธรูปอันสท้อน ให้เห็นถึงแก่นของความศรัทธาในพระพุทธศาสนา ปัจจุบันนี้ ความต้องการทางวัตถุของคนเรากอร์ปเข้ากับลัทธิแห่งความรวดเร็ว ซึ่งศิลปินจำต้องทำงานคล้ายกับเครื่องพิมพ์งานศิลป ทางจิตอย่างสมัยโบราณนั้นไม่มีทางจะทำได้อีกแล้ว การสร้างพระพุทธรูปสมัยนี้กลายเป็นผลประโยชน์ทางการค้า ซึ่งผู้จ้างต้องการราคาถูก ส่วนศิลปินต้องการกำไรมาก สิ่งซึ่งตรงกัน ข้ามสองประการนี้ ไม่มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอาจถูกตำหนิได้ แต่ผลที่เกิดขึ้น คือ คำว่า “ศิลป” กลายเป็นสิ่งปราศจากความหมาย แม้ว่าเราไม่เข้าใจหรือไม่ยอมรับก็ตาม การกล่าวเช่นนี้ย่อม ประยุกต์ไปถึงสถาปัตยกรรมหรือจิตรกรรม ที่สร้างขึ้นตามวัดลางแห่งในสมัยนี้ด้วย อีกประการหนึ่ง ศิลปนั้นเป็นสิ่งจำเป็นแก่จิตใจมนุษย์ ดังนั้น การแสดงออกซึ่งความรู้สึกอันแตกต่าง ไปจากโบราณสมัยก็ต้องถูกสร้างสรรขึ้น นั่นคือ ศิลปร่วมสมัย นั่นเอง
ศิลปินเป็นผู้ที่มีความรู้สึกอ่อนไหวกว่าบุคคลทั่วไปโดยส่วนเฉลี่ย ฉะนั้นเองศิลปินจึงได้รับการกระตุ้นเตือนจากสิ่งแวดล้อมตน และโดยที่สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเมืองใหญ่ๆ อันมีสภาวะแตกต่างไปจากสมัยโบราณ ศิลปินจึงมีอารมณ์สะเทือนใจสร้างงานศิลปของเขาขึ้น ดังนั้นศิลปร่วมสมัยจำต้องแตกต่างไปจากศิลปในอดีตอย่างไม่คำนึง ถึงอิทธิพลโดยตรงของต่างประเทศ
ตามปกติผู้ที่นิยมฝังแน่นอยู่ในศิลปแบบประเพณี จะไม่ยอมรับศิลปแบบใหม่ง่ายนัก มันเป็นความรู้สึกที่ไม่อาจเข้าใจได้ ความรู้สึกเช่นนี้จะค่อยๆ จางไปโดยอาศัยความนิยมทาง สุนทรียะ อันเกิดจากสิ่งแวดล้อมปัจจุบัน ความรู้สึกของศิลปินก็เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะลดความวิตกกังวลของคนเรา จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะเข้าใจว่า ถ้าคนไทย (หรือศิลปินผู้ใดที่อยู่ ในกลุ่มที่แตกต่างออกไปจากชาติพันธุ์) ไม่ลอกเลียนแบบอย่างงานของศิลปินต่างประเทศเขาย่อมจะแสดงออกซึ่งความรู้สึกแบบอย่างใหม่ๆ ใดๆ ก็ได้ แบบอย่างใหม่นี้เป็นลักษณะ ส่วนตนของเชื้อชาติ ซึ่งกอร์ปด้วยอารมณ์ตามธรรมชาติ ลมฟ้าอากาศ ศาสนา ความรู้สึกอันสืบเนื่องจากบรรพบุรุษ ความคิดและสมการ ด้านอื่นๆ


การศึกษาและอิทธิพลของตะวันตก
ในสมัยโบราณ คนไทยได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากวัด และโดยทั่วไปแล้วการศึกษานี้ขึ้นอยู่กับคติทางศาสนาเป็นสำคัญ
ระบบการศึกษาปัจจุบันซึ่งเจริญรอยตามแบบอย่างของชาวตะวันตก อำนวยให้อนุชนของเราได้รับความรู้ความเข้าใจเรื่องราวต่างๆ อันเป็นหลักเบื้องต้น และเป็นสากลนิยม แน่ละเรื่องเช่นนี้ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่ความรู้สึกนึกคิดของคนไทยอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับทางด้านศิลป การศึกษาปัจจุบันได้ทำให้ศิลปินเป็นอิสระจากการทำงานที่บรรยาย ถึงเรื่องราววรรณกรรมโบราณ ความรู้ทั่วไปช่วยให้เกิดมโนภาพกว้างขวางขึ้น และผลก็คือศิลปินหนุ่มๆ “ต้องการ” เนรมิตสิ่งใหม่ๆ อันสมดุลย์กับมโนคติและการตระหนักอันแท้จริง ของตน การเนรมิตสิ่งใหม่เช่นนี้ ศิลปินย่อมทำงานขัดต่อกระแสร์ของความนิยมในศิลปของประชาชน แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นแก่ศิลปินอย่างยิ่งที่เขาจะต้องทำงานตามสัญชาติญาณ ธรรมชาติของเขา เพราะมันสท้อนออกซึ่งสิ่งแวดล้อมของตัวเขาเองอย่างจริงใจ อันเป็นสิ่งแวดล้อมของคนไทยทุกคนในสมัยปัจจุบันนี้ด้วย
โดยที่ปัจจุบันนี้เป็นสมัยเปลี่ยนแปลง การแสดงออกซึ่งความรู้สึกใหม่จะบังเกิดผลสำเร็จสมบูรณ์หรือไม่ก็ตาม ก็ยังไม่บังเกิดคุณค่าทันทีทันใด สิ่งสำคัญที่จำต้องเข้าใจ คือศิลปร่วมสมัยนั้น แม้ในเมืองไทยก็ดี ได้ก้าวเข้าสู่ปรากฏการณ์แห่งประวัติศาสตร์ ซึ่งจำต้องคล้อยตามเส้นโค้งสูงไปสู่ความสำเร็จอันสมบูรณ์
ในโลกของการศึกษานั้น เราไม่ควรตีราคาหนังสือประเภทตำราส่วนใหญ่ที่เป็นผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของชาวตะวันตกให้ต่ำไป ในสมัยโบราณ ชาวตะวันออก ได้ประยุกต์จิตใจของตนทั้งสิ้นไปในทางปรัชญา เพราะว่าการศึกษาเป็นสมการสำคัญต่อการสร้างสมองของประชาชน ดังนั้นชาวตะวันออกก็มิอาจหลีกเลี่ยงอิทธิพลทาง ความคิดของชาวตะวันตกได้ เช่นเดียวกันกับชาวตะวันตกซึ่งได้รับอิทธิพลจากปรัชญาของชาวตะวันออกฉะนั้น
เมื่อกล่าวถึงอิทธิพลทางการศึกษาของตะวันตก ชาวตะวันออกก็ไม่จำเป็นต้องหวาดหวั่นอะไร เพราะว่าจิตใจที่ดี ย่อมดีอยู่เสมอ ที่จะสร้างงานศิลปที่วิจิตรงดงาม อิทธิพลดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในทางความรู้มิใช่ทางจิตใจ
ดูด้านล่าง ภาพประกอบบทความ
เมื่ออ้างถึงอิทธิพลทางตะวันตก ที่มีอยู่แก่ศิลปไทยโดยเฉพาะ เราต้องตระหนักว่าได้แก่อิทธิพลของหนังสือเผยแพร่งานของศิลปินตะวันตกเป็นสำคัญ เป็นเวลาสามสิบกว่าปี ที่หนังสือประเภทนี้และอิทธิพลอันสืบเนื่องกันกอร์ปด้วยความเพิ่มพูนอย่างประทับใจ เหนือจิตใจของศิลปินไทยหนุ่มๆ นั้นเป็นสิ่งที่น่าคิดอย่างยิ่ง
ตามรูปการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า นอกจากหนังสือเกี่ยวกับศิลปของตะวันตกที่แพร่หลายอยู่ในขณะนี้แล้ว จะไม่เกิดประโยชน์และสิ่งที่พึงปรารถนาบ้างดอกหรือ หากเราจะมีหนังสือเกี่ยวกับศิลปร่วมสมัยของตะวันออกพิมพ์ออกเผยแพร่อย่างสม่ำเสมอขึ้นในระหว่างประเทศตะวันออกด้วยกันบ้าง อันอาจเป็นอิทธิพลสำคัญประการหนึ่งที่ จะกระตุ้นเตือนให้ศิลปมีลักษณะเป็นของชาวตะวันออกเด่นชัดยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็ไม่ควรมองข้ามความจริงที่ว่า ศิลปตะวันตกนั้นรวมเอาวิญญาณของสมัยปัจจุบัน เช่นเดียวกับรวมเอาวิญญาณของชาวเอเซีย ชาวอาฟริกันและชาวอินเดียนแดง (อเมริกันโบราณ) เข้าไว้ด้วยกัน ในการศึกษาหาข้อเท็จจริงของชาวตะวันตก เกี่ยวกับความ เข้าใจของเนื้อที่ของงานจิตรกรรม ของชาวจีน และชาวญี่ปุ่น ความอบอุ่นและความมีชีวิตชีวาของศิลปของชาวอินเดีย และงานศิลปกรรมที่แสดงออกอย่างมีความหมายของ ชาวอาฟริกันและอินเดียนแดงนั้นได้ถูกหล่อหลอมขึ้นในมโนคติจักรวาล สะท้อนออกซึ่งวิญญาณของมนุษย์โดยสากล
จากการวิเคราะห์อันสั้นของการหาคะแนนนิยมของอิทธิพลหนังสือศิลปตะวันตกที่มีอยู่แก่ชาวตะวันออกนี้ เราคิดว่านอกจากจะเป็นข้อมูลของความคิดและความรู้ ทางเทคนิคอันมีค่าแล้ว ก็ยังให้ความเข้าใจอันใหม่แก่เราว่าสิ่งพิเศษโดยเฉพาะของศิลปแบบประเพณีของเราหลายอย่าง อาจประสมประสานเข้าด้วยกันในการแสดงออกร่วมสมัยได้ด้วย


ประสิทธิภาพช่วงสั้นของอิทธิพลตะวันตกอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้
ในทุกสมัย ยกเว้นคุณค่าทางด้านธรรมชาติที่แท้จริง และวัฒนธรรมแล้ว ศิลปเป็นสิ่งชื่นชมกันในแง่ของการแสดงออกซึ่งความรู้สึกตามสมัยนิยมที่เรียกว่า “แบบ” การชื่นชอบตามสมัยย่อม เป็นผลร้ายแก่การตัดสินที่ถูกต้อง และปัจจุบันนี้ก็เป็นเช่นนั้นเหมือนกัน ถึงแม้ว่าเรามีความเข้าใจอย่างกว้างขวางกว่า (สมัยโบราณ) เราเองก็ยังตัดสิน (ลงไป) ตามรสนิยมสมัยใหม่ของเรา รสนิยมตามสมัยเป็นผลร้ายแก่ศิลปินหนุ่มฝ่ายตะวันออกอย่างยิ่งอยู่สองประการคือ ประการแรกศิลปตะวันออกดำเนินรอยตามแบบประเพณีมาเป็นศตวรรษๆ ซึ่งในหลายกรณีด้วยกัน เป็นศิลปที่สร้างขึ้นตามกฎเกณฑ์และถ่ายทอดจากชั่วอายุหนึ่งด้วยการพินิจพิจารณาอย่างเข้มงวดกวดขันในด้านเทคนิคและความคิด อีกประการหนึ่งสภาพการณ์เช่นนี้ได้สร้าง ให้เกิดนิสัยการลอกเลียนแบบขึ้น สาเหตุประการหลังเป็นการตรงกันข้ามกับสาเหตุประการแรก และขณะเดียวกันก็มีรากฐานเช่นเดียวกับประการแรกนั่นเอง เนื่องจากการทำงานตาม แบบและความคิดซ้ำๆ ซากๆ โดยไม่จำกัดของเรา ดังนั้นศิลปินหนุ่มจึงต้องการสลัดความเป็นทาสของความคิด (เก่า) ให้พ้นไป และด้วยเหตุนี้จึงไม่ยอมรับทุกๆ สิ่งในอดีตอย่าง สิ้นเชิงและรับเอาแต่สิ่งใหม่ๆ ทุกอย่าง ผลก็คือ งานศิลปของศิลปินตะวันออก ขาดลักษณะโดยเฉพาะในส่วนบุคคลและเชื้อชาติ เป็นงานเลียนแบบศิลปตะวันตก และเราอาจทราบ ได้แต่เพียงว่าสร้างขึ้นในตะวันออกจากชื่อและเชื้อชาติของศิลปินเท่านั้น
ดูด้านล่าง ภาพประกอบบทความ
แน่ละ ในกรณีเช่นนี้เราไม่อาจตำหนิอิทธิพลตะวันตกหรือเราไม่อาจตัดสินงานของศิลปินตะวันตกหรือเราไม่อาจตัดสินงานของศิลปินตะวันออกอย่างเข้มงวดกวดขันจนเกินไป ศิลปร่วมสมัยในประเทศตะวันออกหลายประเทศอยู่ในระหว่างหัวเลี้ยวหัวต่อ อันเป็นเหตุให้แสดงออกซึ่งความรู้สึกส่วนบุคคลมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่รูปแบบของศิลปินโดยตรง
ประเภทของการแสดงออกซึ่งความรู้สึกทางด้านศิลปของลัทธิสากลนิยมนั้น มีสาเหตุจากอารยธรรมปัจจุบันซึ่งรับกันอยู่ทุกหนทุกแห่ง แต่ดังได้กล่าวแล้วว่า ความรู้สึกเช่นนี้อาจเป็นสิ่งที่ ไม่ใช่เหตุผลเพียงพอว่า ทำไมศิลปจำต้องมีลักษณะซ้ำซากอยู่เสมอไป ถ้าหากศิลปินไทยหรือศิลปินตะวันออกคนหนึ่งคนใด ทำงานด้วยความรู้สึกจริงใจ งานของเขาต้องแตกต่างไปจากงาน ของศิลปินชาวยุโรป ความแตกต่างซึ่งสอดคล้องกับลักษณะโดยเฉพาะของเชื้อชาติ
ยิ่งไปกว่านั้น แม้งานศิลปของศิลปินชาวตะวันออก ของชาติต่างๆ อันมีวัฒนธรรมต่างไปจากของเรา เช่น จีน ก็ไม่ควรมีลักษณะเหมือนกันกับของไทย อิทธิพลที่แลกเปลี่ยนซึ่งกัน และกันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่กระตุ้นเตือนให้เกิดความคิดใหม่ แต่เราก็ควรขัดขวางหลักเกณฑ์ทางด้านทฤษฎีซึ่งทำลายความเป็นธรรมชาติของศิลปินด้วยเหมือนกันL


นักวิจารณ์ศิลป
บ่อยครั้งทีเดียวที่ศิลปินตะวันออกถูกครอบงำจิตใจโดยการวิจารณ์ของนักวิจารณ์ศิลปตะวันตก นักวิจารณ์ศิลปลางคน จะเข้าข้างตัวหรือไม่เข้าข้างตัวก็ตาม จะวิจารณ์งานศิลปแต่ละชิ้นตาม “อุดมคติอันสูงส่ง” ของตน ซึ่งย่อมเป็นธรรมดาว่าค่อนข้างยากที่เราจะเข้าใจ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดไปว่าการที่จะเป็นศิลปินสมัยใหม่ ต้องสร้างมโนคติอันลึกลับแปลกประหลาด การคล้อยตามการวิจารณ์เช่นนี้เป็นอันตรายและสกัดกั้นอารมณ์ประทับใจของศิลปินตะวันออกในการสร้างสรรงานศิลป ไปจากการแสวงหาบุคลิกภาพส่วนตนตามธรรมชาติมากขึ้น
ย่อมเป็นสิ่งแน่ว่า เรามิอาจตำหนินักวิจารณ์ชาวตะวันตก แต่ในขณะเดียวกันศิลปินตะวันออก ก็ควรมีนักวิจารณ์ศิลปของตนเอง อันสอดคล้องกับประเพณีทางด้านปรัชญาและเชื้อชาติของตน สำหรับเหตุผลข้อนี้ เราขอย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีหนังสือและนิตยสารเกี่ยวกับศิลปของตะวันออกขึ้น (๓)
กล่าวกันว่าการพิมพ์หนังสือศิลปนั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศกลุ่มตะวันออกขาดแคลนเงินอุดหนุน และอาจเพิ่มภาระหนักให้แก่ชาติอีกด้วย แต่ความจริงนั้นอยู่ที่ว่า ส่วนใหญ่ของเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่รับผิดชอบยังมิได้ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปร่วมสมัย ที่จะพึงมีแก่ชีวิตของประชาชนในชาติของตน ในประเทศไทย เราก็มีประสพการณ์ของ วิกฤตกาลหัวเลี้ยวหัวต่อของศิลปอันเนื่องมาจากการสดุดหยุดลงของศิลปแบบประเพณี และการเริ่มต้นศิลปปัจจุบัน ในรูปแบบและความคิดใหม่ด้วยเหมือนกัน
เราต้องยกความจริงขึ้นมากล่าวอีกว่า ในสมัยโบราณนั้น งานศิลปสร้างขึ้นเพื่อความมุ่งหมายทางศาสนาเท่านั้น ไม่มีใครต้องการงานศิลปสมัยใหม่ เพราะไม่เข้าใจ หรือไม่ก็ไม่เห็นคุณค่า ทางด้านสุนทรียะ
ในระหว่างกลุ่มประเทศตะวันออกนั้น มีลางประเทศ เช่นอินเดียและญี่ปุ่นที่ สนับสนุนและนิยมศิลปร่วมสมัย แต่ช่างโชคร้ายที่บางประเทศ ซึ่งมีความอุตสาหะพยายามอย่างจริงใจ ควรแก่การยกย่องเป็นพิเศษของศิลปินหนุ่มๆ มิได้รับการสนับสนุน และขาดความเห็นอกเห็นใจจากผู้ที่ควรส่งเสริมเขาเหล่านั้น
สถานการณ์ทางด้านศิลปของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลง ในระยะสิบกว่าปีที่แล้วมา เห็นได้ว่ามีการส่งเสริมศิลปยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความก้าวหน้าทางพุทธิปัญญา เป็นเหตุให้อนุชนสนใจในศิลปสมัยใหม่อย่างน่าพอใจอันเป็นเครื่องหมายที่ให้ความหวังแก่เราว่า ในอนาคตความนิยมชมชอบศิลปที่แสดงออกในรูปร่วมสมัย จะสัมฤทธิผลในที่สุด

(๑) ในระหว่างต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ ได้มีการส่งคนหนุ่มๆ ไปศึกษาวิชาการต่างๆ ในยุโรป เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ สถาปัตยกรรม ฯลฯ เมื่อกลับมาแล้ว คนหนุ่มเหล่านี้ก็ได้ร่วมมือ ทำงานกับผู้ที่ได้ศึกษาอยู่ในเมืองไทยสืบแทน ผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศต่อไป
(๒) เมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วมา ในกรุงเทพฯ ใช้ลำคลองเป็นเส้นทางคมนาคมคล้ายนครเวนิส ประเทศอิตาลี จะมีถนนก็เพียงไม่กี่สายเท่านั้น
(๓) เป็นที่น่ายินดีว่า ได้เกิดมีหนังสือศิลปชื่อ “อาร์เตเซีย” (ARTASIA) มีสำนักงานอยู่ ณ กรุงการาจี ประเทศปากีสถาน ภายใต้การจัดการของสมาคมวิจารณ์ ศิลประหว่างประเทศ ในกลุ่มประเทศตะวันออกขึ้นแล้ว สมาคมนี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะเผยแพร่และวิจารณ์ศิลปร่วมสมัยของศิลปินตะวันออก ประเทศไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมด้วย สมาคมนี้มีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “INTERNATIONAL ASSOCIATION OF ART CRITICS” มีสำนักงานใหญ่อยู่ ณ กรุงปารีส - ผู้แปล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น